Your browser doesn’t support HTML5
พันธมิตรกุมขมับ! เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ มีท่าทีลดบทบาท "ผู้นำโลกเสรี"
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวปฏิเสธแผนที่จะถอนสหรัฐฯ ออกจากองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ในขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า สหรัฐฯ ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมจาก WTO
คำกล่าวล่าสุดของผู้นำสหรัฐฯ มีขึ้นขณะที่กำลังเกิดความกังวลต่อบทบาทของสหรัฐฯ บนเวทีโลก หลังจากตั้งแต่ ปธน.ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง ดูเหมือนสหรัฐฯ มักเผชิญหน้ากับประเทศพันธมิตรและองค์กรระหว่างประเทศ มากกว่าการทำให้เกิดความร่วมมือ ซึ่งรวมถึงการมีความเห็นที่ขัดแย้งกับสหภาพยุโรป กลุ่ม G-7 องค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และ WTO
โดย ปธน.ทรัมป์ มักเน้นย้ำอยู่เสมอว่า สหรัฐฯ ควรจะเจรจาการค้าและยุทธศาสตร์ต่างๆ เป็นรายประเทศ มากกว่าจะเข้าร่วมทำสนธิสัญญาแบบรวมกลุ่ม
FILE - People are pictured in the headquarters of the World Trade Organization (WTO) in Geneva, Switzerland, April 12, 2017.
อเล็กซานเดอร์ เวอร์ชโบว์ นักวิเคราะห์ที่ Atlantic Council และอดีตรองเลขาธิการ NATO กล่าวกับ VOA ว่า
"แทนที่จะทำหน้าที่ผู้นำเสรีเหมือนประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ ดูเหมือนว่า ปธน.ทรัมป์ กลับพยายามประกาศสงครามกับประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการบ่อนทำลายบทบาทของกลุ่ม G-7 และ WTO การทำให้เกิดคำถามต่อการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อองค์การนาโต้ในการต่อต้านรัสเซีย รวมทั้งการประกาศอย่างผิดๆ ว่าสหภาพยุโรปถูกสร้างขึ้นมาเพื่อฉกฉวยผลประโยชน์จากสหรัฐฯ"
ในช่วงสองสัปดาห์นี้ ปธน.ทรัมป์ จะเดินทางไปร่วมประชุมประจำปีขององค์การนาโต้ที่ยุโรป และมีกำหนดจะเดินทางเยือนอังกฤษ เพื่อหารือนายกฯ อังกฤษ เธเรซ่า เมย์ ก่อนที่จะประชุมสุดยอดร่วมกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ในเดือนกรกฏาคมนี้ ที่ฟินแลนด์
นักวิเคราะห์เวอร์ชโบว์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งทูตสหรัฐฯ ประจำรัสเซีย เชื่อว่า "ปธน.ปูติน คงไม่สามารถคาดหวังสิ่งที่ดีไปกว่านี้ เพราะการประชุมระหว่างปูตินกับทรัมป์ จะเป็นสร้างสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ซึ่งจะสร้างผลเสียต่อพันธมิตรของสหรัฐฯ เอง"
FilE - German Chancellor Angela Merkel watches as President Donald Trump talks with IMF Managing Director Christine Lagarde during the Gender Equality Advisory Council breakfast during the G-7 summit, June 9, 2018, in Charlevoix, Canada.
ความสัมพันธ์ที่ง่อนแง่นกับชาติพันธมิตร
เมื่อวันศุกร์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง ถูกผู้สื่อข่าวถามว่า "เป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่ ปธน.ทรัมป์ แนะนำให้ฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรป?"
ซึ่ง ปธน.ฝรั่งเศส ไม่ตอบ เพียงแต่บอกว่า อะไรก็ตามที่ตนสนทนากับ ปธน.ทรัมป์ในห้องประชุมที่ทำเนียบขาว เมื่อเดือนเมษายน จะไม่ถูกนำออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชน
ต่อมาในการประชุมผู้นำประเทศกลุ่ม G-7 ที่แคนาดา เมื่อต้นเดือนนี้ ทรัมป์ได้เสนอให้กลุ่มประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลก 7 ประเทศ รับรัสเซียกลับเข้ากลุ่มอีกครั้ง หลังจากที่รัสเซียเคยถูกขับออกไปเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งในหนึ่งในมาตรการลงโทษที่รัสเซียควบรวมแคว้นไครเมียเป็นของตัวเอง
ข้อเสนอของทรัมป์ถูกปฏิเสธจากประเทศพันธมิตรอื่นๆ และยิ่งเป็นการสร้างความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากความขัดแย้งเรื่องที่สหรัฐฯ เพิ่มภาษีนำเข้าสำหรับเหล็กกล้าและอลูมิเนียมจากหลายประเทศ รวมทั้งยุโรป
FILE - President Harry S. Truman signs a proclamation declaring into effect the 12-nation Atlantic Pact binding North America and Western Europe in a common defense alliance, Aug, 24, 1949. Witnessing the signing (L-R): Hoyar Miller of the United Kingdom; Ambassador Henrik De Kauffmann of Denmark; Canadian Embassy Counselor W.D. Matthews; Secretary of Defense Louis Johnson; Ambassador Wilhelm Munthe De Morgenstierne of Norway; Ambassador Henri Bonnet of France; Baron Silvercruys, Ambassador of Belgium, Ambassador Pedro Pereira of Portugal; Secretary of State Dean Acheson; Netherlands Minister Jonkheer O. Reuchlin, and Italian Embassy Counselor Mario Lucioli.
ท่าทีสหรัฐฯ ต่อองค์การนาโต้ กำลังเปลี่ยนไป
เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บข่าว Axios รายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้กล่าวกับผู้นำกลุ่ม G-7 คนอื่นๆ ว่า "องค์การนาโต้ แย่พอๆ กับข้อตกลงการค้าเสรีแถบอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ซึ่งล้วนสร้างผลเสียมากมายต่อสหรัฐฯ"
และเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ทรัมป์ ยังย้ำด้วยว่า เยอรมนี สเปน และฝรั่งเศส ควรจ่ายเงินให้กับนาโต้มากกว่านี้ เพื่อให้ยุติธรรมกับสหรัฐฯ
ท่าทีล่าสุดยิ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงจุดยืนที่เปลี่ยนไปของสหรัฐฯ ที่มีต่อนาโต้ หลังจากที่ ปธน.ทรัมป์ เคยกล่าวกับหนังสือพิมพ์ The New York Times เมื่อปีที่แล้วว่า สหรัฐฯ จะยืนมือเข้าช่วยเหลือพันธมิตรในนาโต้ ก็ต่อเมื่อประเทศนั้นทำตามพันธะผูกพันที่ควรจะเป็น ซึ่งหมายถึงจะต้องกันงบประมาณเพื่อการทหารเป็นสัดส่วน 2% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวม หรือ GDP ของประเทศนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม บทที่ 5 ของสนธิสัญญาการจัดตั้งองค์การนาโต้เมื่อปี 1949 ระบุไว้ว่า การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง ถือเป็นการโจมตีองค์การนาโต้โดยรวม
ถึงกระนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังทำอยู่นั้น ไม่ใช่การทำลายชาติพันธมิตร แต่เป็นความพยายามจัดระเบียบโลกเสรีเสียใหม่เท่านั้น